นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงที่มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ พบสถิติการเข้ารักษาฉุกเฉินที่พบบ่อย คือ การถูกสัตว์มีพิษที่มากับน้ำกัด ทั้ง ปลิง ตะขาบ แมงป่อง และงู ซึ่งเฉพาะ งู มีทั้งงูเหลือม งูเขียว งูเห่า โดยงูมีพิษ
แบ่งได้เป็นเป็น 3 ชนิด คือ ชนิดเป็นพิษต่อระบบประสาท พบใน งูเห่า งูจงอาง ผลคือเกิดอัมพาต ลืมตาไม่ได้ และอาจหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้ ,ชนิดที่ 2 คือเป็นพิษต่อเลือด ได้จากงูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ ผู้รับพิษจะมีเลือดออกตามที่ต่างๆ อาเจียนเป็นเลือดไม่หยุด เพราะพิษจะส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัว และชนิดเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อ ได้จาก งูทะเล เป็นอัตรายต่อกล้ามเนื้อ
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกสัตว์มีพิษ โดยเฉพาะงูกัด ก่อนที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะเข้าไปถึงพื้นที่ คือประชาชน ต้องตั้งสติก่อนเป็นอันดับแรก ดูให้แน่ว่าเป็นงูที่มีพิษหรือไม่ หากแน่ใจเป็นงูมีพิษผู้บาดเจ็บมีเวลาครึ่งชั่วโมงกว่าพิษจะเริ่มแสดงอาการ สิ่งแรกที่ต้องทำคือรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ แต่ห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟจี้ ดื่มสุรา หรือกินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะจะเพิ่มการติดเชื้อที่แผลมากขึ้นจนเนื้อรอบบริเวณตาย หรือไปเสริมฤทธิกับพิษงูให้รุนแรงมากขึ้น
จากนั้นให้ผู้บาดเจ็บนอนนิ่งๆ จัดส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ระดับต่ำกว่าหัวใจ ห้ามเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็น เพื่อชะลอการดูดซึมพิษงูเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดดำไหลเวียนเข้าหัวใจ หาไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดแล้วใช้ผ้าพันให้แน่นพอประมาณเหนือแผลงูกัดประมาณ 5-15 เซนติเมตร รีบนำผู้ถูกงูกัดส่งสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
หากระหว่างนำส่งผู้บาดเจ็บหยุดหายใจให้กดนวดหัวใจ จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล หากผู้บาดเจ็บอยู่คนเดียว ควรโทรหาสายด่วน 1669 ตั้งแต่ถูกงูกัดแล้วปฐมพยาบาลตัวเองระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้าถึงพื้นที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น